วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ระบำอัปสราบายน

ระบำอัปสราบายน




ประวัติระบำอัปสรา นาฏศิลป์กัมพูชา

นาฏศิลป์กัมพูชามีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร (ค.ศ. ๕๔๐-๘๐๐) แล้ว เช่น รูปปั้นดินเหนียวสมัยนครบุรี (Angkorborei) เป็นรูปบุคคลร่ายรำ และจารึกที่กล่าวถึง "คนรำ" เป็นภาษาเขมร ในจารึกสมัยพระนคร (ค.ศ. ๘๒๕-ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔) พบคำสันสกฤต "ภาณิ" ซึ่งหมายถึงการแสดงเล่าเรื่อง และหากดูภาพสลักจำนวนมากในปราสาทหินทั้งหลายแหล่ของขอม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอาณาจักรขอมมีการร่ายรำ การแสดง เป็นเรื่องปรกติธรรมดาสำหรับการบันเทิงในราชสำนักและประชาชน ในจารึกที่กล่าวถึงข้าพระที่ประจำศาสนสถานนั้นมักมี "คนรำ" ประจำอยู่ด้วย นาฏศิลป์กัมพูชาโบราณน่าจะได้รับอิทธิพลอินเดียเป็นพื้น



นาฏศิลป์กัมพูชาน่าจะสืบต่อและพัฒนามาจนรุ่งโรจน์ไม่แพ้ศิลปวิทยาการด้านอื่นๆ ในสมัยพระนคร และน่าจะมีอิทธิพลไม่น้อยต่ออยุธยาหลังจากที่มีการตีเมืองพระนครแตกและกวาดต้อนผู้คนมาสู่กรุงศรีอยุธยา จำนวนหนึ่งในผู้คนเหล่านั้นน่าจะมีนักรำอยู่ด้วย

หลักฐานทางภาษาอย่างหนึ่งก็คือไทยรับคำ "รำ" ในภาษาเขมรมาแทนที่คำ "ฟ้อน" ที่เดิมใช้ในภาษาไทย และไทยก็รับเอามาผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่เดิมและพัฒนานาฏศิลป์สืบเนื่องต่อจากนั้นและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา และเมื่อมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไทยก็ส่งคืนศิลปวิทยาการด้านนี้กลับสู่ประเทศราชกัมพูชา และกัมพูชาก็รับเอามาประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวเองและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน



เอกสารทางฝั่งกัมพูชาไม่ใคร่กล่าวถึงอิทธิพลของนาฏศิลป์ไทยนัก ด้วยเหตุของลัทธิชาตินิยม และความเชื่ออันเป็นบรรทัดฐานว่าไทยนั้นมักรับเอาวิทยาการทุกๆ อย่างไปจากเขมร ดังนั้นนาฏศิลป์กัมพูชาก็เป็นต้นแบบของนาฏศิลป์ไทยด้วย และมักกล่าวกันว่านาฏศิลป์กัมพูชาสืบทอดมานับพันปีตั้งแต่สมัย "อังกอร์" อันเป็นอุดมคติแห่งชาติพันธุ์กัมพูชา ถึงแม้เอกสารของทางฝรั่งเศสจะมีบันทึกว่าในปี ๑๙๐๔ หลังจากพระบาทนโรดมทิวงคตนั้น ในราชสำนักกัมพูชามี "ศิลปการินี" จากสยามเหลืออยู่เกิน ๓๐๐ คนก็ตาม

ดนตรีและเนื้อร้อง

เพลงบางเพลง เครื่องละครบางชิ้น และเครื่องดนตรีบางชนิดก็มีชื่อเป็นภาษาไทย เนื้อเพลงบางเพลงนั้นก็แต่งล้อเนื้อเพลงไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เค้ารอยอีกหลายๆ ประการที่บ่งบอกว่าได้รับอิทธิพลไทยก็มีอยู่มากพอที่จะกล่าวยืนยันได้ เอกสารที่กล่าวถึงอิทธิพลจากไทยมักเกี่ยวกับเพลงและดนตรี

ผู้อ่าน "โครงกระดูกในตู้" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ย่อมได้ทราบเรื่องหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดยกโรงละครทั้งโรงขึ้นเรือสำเภาหนีไปเมืองเขมร และเอกสารฝั่งไทยก่อนหน้านั้นก็มีกล่าวถึงไว้ว่าเขมรได้ครูละครไปจากไทย เช่น "นิราศนครวัด" ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อิทธิพลของละครไทยส่งผลโดยตรงสู่การละครในราชสำนักกัมพูชา อันเรียกเป็นภาษาเขมรว่า "ระบำพระราชทรัพย์" ที่เรียกเช่นนี้เพราะการแสดงในราชสำนักเป็นราชูปโภคของพระมหากษัตริย์นั่นเอง ขณะที่ระบำพื้นเมือง รำวงรื่นเริงของเขมรมีลักษณะเฉพาะตัวและห่างไกลจากนาฏศิลป์ไทยมากกว่า

เขมรแบ่งนาฏศิลป์ออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ระบำพระราชทรัพย์ คือระบำในราชสำนัก ๒. ระบำประเพณีเขมร คือระบำพื้นบ้าน ๓. ระบำประชาปรีย์ คือรำวงในงานรื่นเริงทั่วไป นาฏศิลป์กัมพูชาก็เป็นเช่นดังศิลปวิทยาการด้านอื่นๆ ของกัมพูชา คือขาดช่วงและองค์ความรู้ถูกทำลายไปในช่วงเขมรแดง ดังนั้นจึงหาเอกสาร ผู้รู้ วิทยากรที่เหลืออยู่ได้ยากเต็มทน

ต่อมาระบำพระราชทรัพย์เปิดกว้างขึ้น เนื่องจากสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป จึงกลายเป็นระบำชั้นสูงเทียบได้กับกรมศิลปากรของไทย แต่ยังเรียกระบำพระราชทรัพย์อยู่

ครูผู้รู้ฝ่ายไทยมักตั้งข้อสังเกตว่าการแสดงของเขมรนั้นมักรำไม่ครบท่า ไม่ครบเพลง ไม่ครบเครื่อง +++ส่วนมงกุฎไม่งาม เมื่อเทียบกับฝั่งไทย และโดยเฉพาะโขนนั้น ตัวยักษ์ชั้นสูงและลิงชั้นสูงไม่น่าเกรงขาม คงได้ครูยักษ์และลิงชั้นรองจากไทยไปฝึกสอน แต่กระนั้นนาฏศิลป์กัมพูชายังคงมีลักษณะเฉพาะของตัวเองและมีความน่าสนใจเป็นอันมาก ลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจประการหนึ่งนั้นก็คือสามารถรักษาลักษณะเก่าแก่บางประการของละครไทยเอาไว้ได้

เมื่อกัมพูชาเปิดประเทศใหม่ๆ ประมาณปี ค.ศ. ๑๙๙๒ นั้นผู้เขียนชมการแสดงของเขมรเจอแต่นางรำรุ่นป้าๆ แต่ตอนนั้นก็พอใจเพราะว่าเชื่อได้ว่าเป็นนางรำรุ่นเก่า หลงรอดจากสงครามมาได้ คนเก่าน่าจะรักษาของเดิมได้ดีกว่าเด็กใหม่ ครั้นหลังจากนั้นมาได้ไม่นานสักกี่ปี กัมพูชาก็ปั้นนางรำเด็กใหม่หน้าละอ่อนอ้อนแอ้นออกมาสำแดงฝีมือ สร้างความปีติยินดีแก่ผู้ชมว่า ครานี้นาฏศิลป์กัมพูชาไม่ถึงกาลอับเฉา ยังมีผู้สืบทอดการแสดงประจำชาติที่พวกเค้าภาคภูมิใจ

ชาวไทยโดยทั่วๆ ไปโดยมากที่ได้ชมนาฏศิลป์กัมพูชามักให้ความเห็นว่ารำแอ่นเกินไป แต่นี่เป็นลักษณะดั้งเดิมของนาฏศิลป์ไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เขมรยังรักษาเอาไว้ ขณะที่ครูรำไทยเห็นว่าเขมรนั้นรำช้า หนัก ขณะที่ของไทยนั้นเร็วและเบากว่า ครูรำเขมรก็ให้ความเห็นเช่นเดียวกัน ครูไทยบางท่านก็ว่าไทยนั้น "รำเก๋" ส่วนเขมรนั้น "รำงาม" การร่ายรำที่เชื่องช้าและมั่นคงของเขมรผนวกกับดนตรีประกอบนั้นเองสร้างมนต์ขลังให้คนดู บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถสื่อกันได้ระหว่างผู้แสดงและผู้ชม

ความงามทางสุนทรียะเหล่านี้ทำลายกำแพงขวางกั้นทางวัฒนธรรม คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเมื่อได้ชมก็เห็นว่างามหลาย ลักษณะการแสดงออกของตัวละครเขมรนั้นบางทีก็ดูเป็นโบราณกว่าของไทย เนื่องจากสังคมเขมรทุกวันนี้ยังไม่มีความเจริญทางวัตถุมากเหมือนไทยในปัจจุบัน ดังนั้นจึงรักษาอารมณ์คนโบราณได้ดีกว่า



ลักษณะของการร่ายรำที่เชื่องช้าทำให้นางรำเขมรรำได้พร้อมเพรียงกันราวกับมีลมหายใจอันเดียวกัน หากชมระบำหมู่จะพบว่าการตั้งมือตั้งไม้เท่ากันหมดแสดงให้เห็นการฝึกซ้อมด้วยกันเป็นอย่างดี ขณะที่ผู้เขียนไม่พบลักษณะเช่นนี้ในนาฏศิลป์ไทย

เครื่องละครเขมรเมื่อดูบนเวทีอาจดูอับแสงกว่าเครื่องละครไทย เนื่องจากใช้เพชรน้อยและเม็ดเล็กกว่า แต่เมื่อหยิบมาดูใกล้ๆ แล้วจะเห็นฝีมือเชิงช่างที่แสดงความสามารถในการปักเครื่องที่ยังรักษาไว้ได้ดี เราอาจเห็นเค้ารอยบางอย่างในละครเขมรที่เคยเป็นของไทย ขณะที่ไทยเราปัจจุบันไม่ได้รักษาลักษณะเช่นนี้แล้ว ในการสวมเครื่องละครบางชิ้น เช่น ดอกไม้ปลายมือ ปะวะหล่ำกำไลข้อมือข้อเท้าเต็มเครื่องเหมือนละครไทยโบราณ



สมเด็จพระมหากษัตริยานีกุสุมะนารีรัตน์ พระราชมารดาของเจ้าสีหนุ พระนางทรงทำนุบำรุงการละครเขมรให้รุ่งเรือง พระนางจึงทรงเป็นพระมารดาแห่งนาฏศิลป์กัมพูชาก็ว่าได้

ระบำอัปสราเกิดขึ้นด้วยคุณูปการของพระนาง โดยนางอัปสราตัวเอกองค์แรกคือเจ้าหญิงบุพผาเทวี พระราชธิดาในเจ้าสีหนุ เป็นระบำที่กำเนิดขึ้นเพื่อเข้าฉากภาพยนตร์เกี่ยวกับนครวัดที่กำกับโดย Marchel Camus ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า L"Oiseau du Paradis ก็คือ The Bird of Paradise หลังจากนั้นระบำอัปสราก็เป็นระบำขวัญใจชาวกัมพูชา ใครได้เป็นตัวเอกในระบำอัปสรานั้นเชื่อได้ว่าเป็นตัวนางชั้นยอดแห่งยุคสมัย



นครวัดเป็นอุดมคติแห่งชาติกัมพูชา นางอัปสราในนครวัดก็เป็นอุดมคติแห่งสตรีเขมร ดังนั้นการชุบชีวิตนางอัปสราออกมาเป็นระบำระดับชาตินั้นมีความหมายในเชิงชาติพันธุ์นิยม เพื่อให้เข้าถึงสัญลักษณ์สูงสุดแห่งสตรีแขมร์ ระบำอัปสรามีชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการอิงบนความยิ่งใหญ่ของนครวัด และระบำอัปสราก็จำลองภาพสลักที่แน่นิ่งไร้ความเคลื่อนไหวในนครวัดให้หลุดออกมามีชีวิต

ดอกไม้เหนือเศียรนางอัปสราส่วนใหญ่ในปราสาทนครวัดคือดอกฉัตรพระอินทร์ เนื่องจากรูปทรงของดอกชนิดนี้พ้องกันกับภาพสลัก เขมรเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า "ดอกเสนียดสก" เสนียด คือสิ่งที่เอามาเสียด และสก คือผม ชื่อของดอกไม้บ่งบอกว่าเป็นดอกสำหรับเสียดผม เข้าใจว่าสมัยโบราณสตรีชั้นสูงของเขมรคงประดับศีรษะด้วยดอกไม้หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือดอกฉัตรพระอินทร์ ดังหลักฐานภาพสลักนางอัปสราที่พบในปราสาทหินขอม ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของช่างสลักจากที่ได้เห็นของจริง

นาฏศิลป์ของเขมรนั้นมีดีอยู่อย่าง คือคนที่มารำไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ล้วนต้องได้รับฝึกมาเป็นอย่างดีก่อนขึ้นเวที และมักเป็นนักเรียนนาฏศิลป์โดยตรง หามีซ้อมก่อนออกงานเดือนสองเดือนแล้วขึ้นเวทีไปควักกะปิให้คนดูรำคาญตารำคาญใจอย่างใดไม่

นักเรียนนาฏศิลป์ก็นุ่งผ้าแดงเช่นเดียวกับไทย ตัวพระนุ่งผ้าน้ำเงิน แต่บางภาพก็เห็นนุ่งแดงกันทั้งโรง แต่สวมเสื้อคอกลมรัดตัว แขนสั้น เสื้อรัดตัวนั้นทำให้สังเกตสังกาการดัดและจัดสรีระได้ง่าย ปัจจุบันมีสอนกันที่มหาวิทยาลัยภูมินท์วิจิตรศิลปะที่ข้างพระบรมมหาราชวังกรุงพนมเปญ และสากลวิทยาลัยวิจิตรศิลปะ

เขมรอ้างว่าท่าร่ายรำของเขมรมีถึง ๔,๕๐๐ ท่า เป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะมานั่งนับว่ามีเท่านั้นจริงหรือไม่ ท่ารำที่ดูโดดเด่นของเขมรคือท่าพักเท้าไว้บนน่องอีกข้างหนึ่ง โดยรับน้ำหนักตัวไว้บนขาข้างเดียว ซึ่งท่านี้เราก็พบในท่ารำเก่าๆ ของไทย แต่คงไม่ตั้งชันเท่ากับที่ปรากฏในภาพสลักฝาผนังบนปราสาทหินขอมดอก และอีกท่าคือนิยมตั้งส้นเท้าค้างกับพื้นเมื่อก้าวเท้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของเขมรอีกประการหนึ่ง

ตัวนางเขมรมักอวบ เหตุผลก็คือตัวนางที่ห่มสไบนั้นจำต้องเปิดหัวไหล่ หากตัวนางผอมโกร่งเวลาห่มสไบจะเห็นกระดูกไหปลาร้า ดูไม่งามตา หากสูงยาวเข่าดีควรต้องไปหัดพระ

นางละครเขมรเก็บขนตาปลอมโดยม้วนไว้กับใบตองแห้ง ก็แปลกตาดี ขนตาที่ถักเองจะงอนไปตามม้วนใบตองแห้งนั้น ทั้งๆ ที่สมัยนี้ก็มีขนตาปลอมจากเมืองไทยวางขายในตลาดแล้ว

ละครโขนยังมีแสดงอยู่บ้าง แน่นอนไม่พ้นตอนสั้นๆ ของเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนหนังใหญ่นั้นที่มีชื่อเสียงคือคณะที่จังหวัดเสียมเรียบ นับว่ายังรักษาจังหวะท่าทางเป็นหนังใหญ่อยู่ ขณะที่คณะที่พนมเปญคนแสดงเป็น "นาฏการี" ซึ่งมีพื้นละครโขนและนาฏศิลป์ เล่นได้จับฉ่าย ท่าทางจึงเป็นท่าทางแบบนาฏศิลป์ไม่ใช่ลีลาหนังใหญ่แบบเสียมเรียบ ครูหนังใหญ่รุ่นเก่าของเสียมเรียบเรียกหนังใหญ่ว่า "นัง" ซึ่งก็มาจากคำไทย "หนัง" นั่นเอง แต่ส่วนคณะนาฏศิลป์ที่เสียมเรียบที่นิยมจัดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติดูนั้นฝีมือทรามกว่าคณะที่พนมเปญ ก็เหมือนระบำของไทยที่รำให้นักท่องเที่ยวดูนั้นแล กระไรจะสู้กรมศิลป์

ส่วนระบำพื้นบ้านนั้นมักเป็นระบำที่แสดงวิถีชีวิตชาวบ้าน การทำมาหากิน หรือการเลี้ยงฉลองพิธีกรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ระบำจับปลา ระบำเก็บกระวาน ระบำสวิง ระบำตรุด ระบำนกยูง ระบำกะลา ระบำของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทั้งชาวจาม ชาวส่วย ชาวพนอง และรำวงในงานรื่นเริงนั้นก็เป็นประเพณีที่ดีงาม แต่ลีลาของมือนั้นแตกต่างจากไทย คือหมุนมือเข้าหาตัวขึ้นบนและผายออกนอกตัว ไม่มีการจีบนิ้ว

เคยไปเที่ยวจังหวัดกำปงจามและเห็นคนหนุ่มสาวที่นั่นเล่นเพลงปฏิพากย์กัน ร้องรำโต้ตอบกันเองเมื่อพากันมาเที่ยวบนเขา โดยไม่มีผู้ชม นับว่าการละเล่นพื้นบ้านชนิดนี้ของกัมพูชายังสดและมีชีวิตอยู่ แถมยังเล่นกันโดยคนหนุ่มสาว ขณะที่บ้านเราเพลงปฏิพากย์กลายเป็นการแสดงหรือการสาธิตไปหมดแล้ว ก็ยินดีแก่ใจเมื่อได้เห็นของจริง

กัมพูชานั้นจัดการแสดงละเม็งละครให้ได้ชมอยู่เนืองๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เจ้านาย และต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อัลลิยอง ฟรองเซส์" ศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศสที่กรุงพนมเปญ ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนศิลปะประจำชาติชนิดนี้ของกัมพูชาเป็นอย่างยิ่ง

การแสดงนาฏศิลป์กัมพูชาที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปด้วยคือมหรสพอังกอร์ จัดแสดงรามเกียรติ์นานาชาติที่จัดแสดงที่นครวัดและนครธม ผู้ชมจะได้มีโอกาสเที่ยวนครวัด ปราสาทหินทั้งเมืองเสียมเรียบและชมนาฏศิลป์กัมพูชาที่แสดงโดยนักแสดงฝีมือระดับชาติด้วย เป็นงานที่ไม่ควรพลาด และมีผู้คนจากทั่วโลกรอชมงานนี้

นางละครไทยคนสุดท้าย ในราชสำนักกัมพูชา

"แม่เมือน" ดาราภาพยนตร์เขมรที่ชาวเขมรทุกคนรู้จัก "ยายเป็นคนปากน้ำโพค่ะ" แม่เมือนกล่าวเป็นภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำกับผู้เขียนซึ่งพบแม่เมือนในปี ๑๙๙๔ ตอนนั้นเธออายุปาเข้าไป ๗๙ ปีแล้ว "ยายเป็นคนไทยค่ะ" เธอบอกกับผู้เขียนขณะที่ประวัติของเธอในหนังสือพิมพ์มีพ่อเป็นไทยมีแม่เป็นลาว เธอติดตามแม่ซึ่งเป็นนางรำมารำในราชสำนักตั้งแต่อายุ ๑๔ ในปี ๑๙๒๙ ตามคำชักชวนของเจ้าสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ และอยู่ได้ปีเดียวแม่เธอก็ต้องกลับไปดูแลพ่อซึ่งป่วย แต่แล้วแม่ก็เสียชีวิตด้วยกาฬโรคและสิ้นไปก่อนพ่อ เมื่อแม่เสียก็อยู่รำต่อ

สมัยอยู่ในวังนั้นแม่เมือนเล่าว่ากลัวจะต้องถูกเรียกให้ "ถวายตัว" แทบแย่ และต่อมาผันตัวเองมาเป็นดาราภาพยนตร์ เธอผ่านช่วงเขมรแดงมาได้เนื่องจากเธอเป็นดารายอดนิยม พวกเขมรแดงไม่ฆ่าเธอเพราะชอบบทบาทการแสดงของเธอ พวกเขมรแดงชอบให้เธอแสดงนู่นแสดงนี่ให้ชม เธออยู่รอดมาได้จนได้รับรางวัลทางการแสดงเมื่อปี ๑๙๙๖ หลังจากนั้นไม่นานแม่เมือนก็เสียชีวิตลง


ระบำนางอัปสราในปัจจุบัน ในรูปแบบเดียวกันกับภาพสลักปราสาทขอมโบราณ

ภาพนางอัปสราที่ร่ายรำอยู่แทบทุกปราสาท แต่อัปสราทุกนางจะไม่ยิ้มเห็นฟัน แม้แต่นางรำที่แสดงให้เราดูเวลารำก็จะไม่ยิ้มเลย แต่จะมีอัปสราอยู่สามนาง ที่มีลักษณะพิเศษ คือ



นางหนึ่งจะยิ้มเห็นฟันอยู่ที่โคปุระชั้นแรก



นางที่สองจะแลบลิ้นเห็นเป็นสองแฉกอยู่บนประสาทชั้นสูงสุด



และนางที่สามจะนุ่งมินิสเกิร์ต เป็นผ้านุ่งเหนือเข่า น่าจะเป็นอารมณ์ขันของผู้แกะสลักเหมือนจิตรกรรมฝาผนัง

ท่ารำ


เนียงอัปสราดำเนิร ( นางอัปสรก้าวเดิน)


เนียงอัปสราเปือดขาง ( นางอัปสรบิดข้าง)


เนียงอัปสราอาตึสเตียน (นางอัปสรอธิฐาน)



เนียงอัปสราจูนปอร (นางอัปสรส่งพร)


เนียงอัปสราบังกมกรอม (นางอัสรบังคมล่าง)


เนียงอัปสราลืกว็องมุขประกับ (นางอัปสรตั้งวงหน้าคว่ำ)


เนียงอัปสราลืกว็องมุข (นางอัปสรตั้งวงหน้า)


เนียงอัปสราลืกว็องบันตูล (นางอัสรตั้งวงทูล)


เนียงอัปสราอรฤเตือย (นางอัปสรดีใจ)


เนียงอัปสราโจลรูป (นางอัปสรเข้ารูป)


เนียงอัปสราจอลกรอย (นางอัปสรทิ้งข้างหลัง)


เนียงอัปสราลืกว็องมุขประหาล (นางอัปสรตั้งวงหน้าหงาย)


เนียงอัปสราเฮาะเฮิร (นางอัปสรเหาะเหิร)


เนียงอัปสราสำแดง (นางอัปสรแสดง)


ที่มาภาพ: http://andrewpagephoto.com/cambodiandance/Recent%20Gallery/aprilboston06/apsara%20dance%20page.html


<embed src="http://www.youtube.com/v/yjlgzlHvftk&hl=en&border=1&color1=0x2b405b&color2=0x6b8ab6&egm=1&autoplay=1&fs=1" type="application/x-shockwave-flash" allowfullscreen="true" wmode="transparent" width="550" height="360"></embed><a href="http://video.kajeab.com" title="_blank" title="hotclip">รำนางอัปสรา</a>

ที่มาเนื้อหา

http://www.seapapa.com/issue/tour/0008.php3


http://www.oceansmile.com/KHM/KHM1/KHM-274.jpg

www.pbase.com/go_cambodia

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=keaowchan